พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน

คือ พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมผลงานของช่างสถาบันสิริกิติ์ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้มีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมผลงานตั้งแต่เริ่มทำในระยะแรกๆ จนถึงผลงานประณีตศิลป์ชิ้นเอก (Masterpiece) ที่ช่างสถาบันสิริกิติ์รังสรรค์อย่างพิถีพิถัน ด้วยสองมือลูกหลานชาวนาชาวไร่ผู้ยากจน ไม่มีแบบ ไม่มีพิมพ์ ไม่มีหุ่น ผลงานบางชิ้นใช้เทคนิคที่มีรากฐานจากศิลปะไทยโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา และหลายชิ้นถูกสร้างสรรค์โดยใช้เทคนิคที่คิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ย้อนกลับไปกว่าเจ็ดสิบปี ในคราวที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้ทอดพระเนตรเห็นราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีฐานะยากจน เนื่องจากจำนวนผลผลิตทางการเกษตรขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ลม ฟ้า อากาศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชกระแสรับสั่งว่า การนำสิ่งของไปพระราชทานแก่ราษฎรเช่นนี้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ราษฎรรอรับแต่ความช่วยเหลือ จึงมีพระราชดำริที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎรให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมุ่งพัฒนาแหล่งน้ำและส่งเสริมองค์ความรู้ทางการเกษตร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพหลัก ดังที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริไว้นับพันโครงการ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับหน้าที่ดูแลและพัฒนา เด็ก สตรี คนชรา พร้อมส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้เพิ่ม ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยทรงนำงานหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น งานจักสาน งานทอผ้า ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ราษฎรทำใช้เองในท้องถิ่นมาพัฒนาจนกลายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้จุนเจือครอบครัวอย่างยั่งยืน นั่นคือที่มาของ “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้ง เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ ๒ ประการ คือ ช่วยเหลือเรื่องปากท้องของราษฎรให้มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และอนุรักษ์งานศิลปวัฒนธรรมเป็นลำดับรองลงมา นับเป็นหลักการทรงงานเกี่ยวกับศิลปาชีพที่สำคัญยิ่ง

สถาบันสิริกิติ์

ปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปิดโรงฝึกศิลปาชีพ ในสวนจิตรลดา ปัจจุบัน คือ “สถาบันสิริกิติ์” ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมราษฎรที่ทรงรับมาจากครอบครัว ชาวนา ชาวไร่ ผู้ยากจน ไม่มีที่ทำกิน เมื่อครั้งเสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร และพระราชทานโอกาสให้มาฝึกอบรมงานศิลปาชีพแขนงต่าง ๆ ทรงจัดหาครูและชาวบ้านที่มีฝีมือดีมาถ่ายทอดให้ชนรุ่นหลังได้ฝึกฝนงานหัตถศิลป์ จากผู้ที่ ไม่มีพื้นฐานงานศิลปะ เริ่มต้นจาก “ศูนย์” ใช้ความวิริยะอุตสาหะพัฒนาทักษะจนกลายเป็น “ช่างสถาบันสิริกิติ์” ล้วนเกิดจากพระวิสัยทัศน์และการเอาพระราชหฤทัยใส่ในการ “สร้างคน” ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพราะช่างสถาบันสิริกิติ์แต่ละคน หาใช่ช่างฝีมือหรือศิลปินผู้เจนจัดงานศิลปะ แต่คือลูกหลานชาวนาชาวไร่ที่มีฐานะยากจน ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๐

“...คนเหล่านี้ เป็นลูกชาวไร่ ชาวนาที่ยากจนที่สุด และข้าพเจ้าเลือกมาเป็นพิเศษ เลือกจากความยากจน ครอบครัวไหนยากจนที่สุด แล้วมีลูกมากที่สุด จะเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงเลือกมา แล้วมาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ที่ตึกเก่า ๆ ที่ดั้งเดิมเป็นที่อยู่ของเจ้านายต่าง ๆ มากมายก่ายกอง ข้าพเจ้าให้เขาอยู่ที่นั่น แล้วก็มาทำการฝึกฝนที่จิตรลดา...”

สถาบันสิริกิติ์มุ่งมั่นที่จะพัฒนาช่างฝีมือ จากงานศิลปะขั้นพื้นฐานเป็นงานศิลปะชั้นสูง โดยได้ประยุกต์และพัฒนางานศิลปาชีพในแผนกต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดผลงานชิ้นสำคัญที่ต้องอาศัยความงดงามของศิลปะแต่ละแผนกเข้าด้วยกัน ตลอดจนอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมงานช่างศิลป์โบราณที่เกือบจะสูญหายให้กลับมาอีกครั้ง

นอกจากการสร้างคนให้เป็นช่างฝีมือแล้วยังเป็นการรักษาศิลปะไทยโบราณ พัฒนาองค์ความรู้และเทคนิคทางศิลปะขึ้นมาใหม่ เช่น เทคนิคการตกแต่งปีกแมลงทับ ซึ่งเป็นการต่อยอดความหลากหลายของงานศิลปะ ผลงานหลายชิ้นเคยนำไปจัดแสดงในต่างประเทศ กระทั่งบนโต๊ะพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำในโอกาสที่พระราชอาคันตุกะมาเยือนประเทศไทย ผลงานเหล่านี้เป็นดั่งทูตวัฒนธรรมที่บอกชาวโลกว่า ประเทศไทยหาใช่ประเทศที่เกิดใหม่ แต่คนไทยมีศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนาน ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่ผลงานจากศิลปินเอก แต่ด้วย “พลังแห่งรัก” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย พระราชทานโอกาสให้ชาวนาชาวไร่ในถิ่นทุรกันดารมาสร้างงานศิลปะ มาจากสองมือคู่เดียวกันที่ผละจอบเสียมมาจับสิ่ว ทุ่มเวลาและแรงกายจนสามารถสร้างสรรค์ประณีตศิลป์ที่ทรงคุณค่า นั่นคือเครื่องยืนยันศักยภาพของ พสกนิกรชาวไทยและเป็นเครื่องเตือนใจว่า ไม่มีการสร้างสรรค์สิ่งใดที่ยิ่งใหญ่เท่ากับการ “สร้างคน”