สัปคับคร่ำนี้จำลองแบบมาจากพระที่นั่งจำลองทอง ซึ่งตั้งอยู่ ณ ท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สัปคับ คือ ที่ประทับบนหลังช้างของพระมหากษัตริย์ ใช้ในการเดินทางทางบก โดยสัปคับที่ใช้งานจริงนั้น ทำจากไม้เพราะมีน้ำหนักเบา และมีการแกะสลักลวดลายให้สมพระเกียรติ
โครงสร้างของสัปคับนี้ทำจากเหล็ก ใช้เทคนิคคร่ำทอง คร่ำเงิน สร้างเป็นลวดลายเถาไม้เทศ มีความพิเศษที่ต่างจากงานคร่ำทั่วไป คือ ช่างสถาบันสิริกิติ์บรรจงฉลุเหล็กได้อย่างงดงาม มองทะลุราวกับเป็นลายลูกไม้ ส่วนของเสาและพนักคร่ำทองสลับเงินมีกระจังปฏิญาณสลักทองคำประดับเพชร บริเวณรายรอบนอกพนักนั้นติดกระจังปฏิญาณสลักทองคำ บริเวณเท้าบน (ส่วนขาด้านบน) ที่อยู่ติดกับลวดหน้ากระดานล่างมีลวดลายฉลุเหล็กเป็นรูปกระบี่เหินเคล้าลายเทศ และตกแต่งด้วยเทคนิคคร่ำเงิน คร่ำทอง ปลายเท้าสลักทองรูปหน้าเหรา
วาระจัดทำ
เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547
ขนาด : กว้าง 84.5 ซม. ยาว 1.44 ม. สูง 75 ซม.
จำนวนช่างฝีมือ : 76 คน
ระยะเวลาจัดทำ : 1 ปี 6 เดือน