สัปคับพระคชาธารนี้จำลองแบบมาจากพระที่นั่งพุดตานคชาธาร ตั้งอยู่ ณ มุขทิศเหนือพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งเป็นสัปคับหรือที่ประทับบนหลังช้างที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใช้ออกราชสงคราม
ช่างสถาบันสิริกิติ์จัดสร้างสัปคับพระคชาธารโดยพัฒนาลวดลายให้วิจิตรขึ้นโครงในทำด้วยเงินแล้วตกแต่งด้วยการสลักลวดลายบนแผ่นทองคำฉลุโปร่ง จำหลักลายเทศ และดอกเทศลอยประดับเพชร พื้นซับด้วยปีกแมลงทับ ท้ายประกอบเกรินกาบพรหมสิงห์สลักทองคำ ส่วนราวพนักสลักลายนาคเกี้ยว พื้นลายเทศ ด้านนอกของพนักทั้งซ้ายและขวานั้น ตั้งลายกระจังปฏิญาณใหญ่ (ใบปรือ) จำหลักทองคำประดับเพชร ขาประกอบหน้าสิงห์ขบลายเทศประดับเพชร พื้นที่นั่งปูลาดด้วยแผ่นเสื่อสานด้วยทองคำ
จุดสังเกตสัปคับสำหรับออกศึกหลังนี้ต่างจากสัปคับที่ใช้เพื่อการเดินทางทั่วไป คือ ใบปรือซึ่งติดตั้งอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวา สันนิษฐานว่าเอาไว้ป้องกันคมหอก คมดาบของข้าศึก
วาระจัดทำ
เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547
ขนาด : กว้าง 1.12 ม. ยาว 1.28 ม. สูง 1.15 ม.
จำนวนช่างฝีมือ : 73 คน
ระยะเวลาจัดทำ : 1 ปี 6 เดือน