สีวิกากาญจน์

สีวิกา หมายถึง เสลี่ยงหรือคานหาม เป็นพระราชยานสำหรับเจ้านายฝ่ายในที่สูงศักดิ์ระดับสมเด็จพระราชินี

"สีวิกากาญจน์" องค์นี้ สถาบันสิริกิติ์จัดสร้างโดยนำต้นแบบมาจากสีวิกาที่ประดิษฐานอยู่บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งมีโครงสร้างเป็นไม้ แต่องค์ใหม่นี้ สร้างเป็นทองคำผสานเทคนิคจากช่างสถาบันสิริกิติ์ในหลายแผนก อาทิ แผนกเครื่องเงิน-เครื่องทอง ลงยาสี แกะสลักไม้ และตกแต่งปีกแมลงทับ

สีวิกากาญจน์ ประกอบด้วยเครื่องบนเรือนกัญญา หลังคาลดชั้น หน้าบันสลักทองคำลงยาราชาวดี และมีรูปกมลาสน์ลีลาศหงส์หรือรูปพระพรหมทรงหงส์ รวยระกาสลักทองฉลุลงยาราชาวดี ตัวรวยและนาคสะดุ้งจำหลักทองฉลุซับพื้นปีกแมลงทับ หางหงส์สร้างเป็นรูปเทพถวายกรเบือน ประกอบเครื่องทรงทองคำประดับเพชร ช่อฟ้าเป็นทองคำสลักลงยา สันบนจำหลักฉลุทองคำลงยาราชาวดีปักบราลีรูปพรหมประนมกร ผืนหลังคานอกฉลุสลักทองคำเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง โดยพื้นหลังคาซับปีกแมลงทับ เชิงกลอนจำหลักทองคำลงยา คันทวยที่ทำหน้าที่ค้ำยันชายคานั้นเป็นรูปนาคหกหรือนาคห้อยหัวจำหลักทองคำลงยา เสาบัวปลายเสาและเชิงเสาล่างจำหลักทองคำลงยา ตัวเสาลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งผูกม่านทอง แผงบังม่านสลักทองคำรูปนกไม้เทศ ฐานสิงห์ส่วนหน้ากระดานล่างสลักไม้ปิดทองคำเปลวเป็นกระจังปฏิญาณน้อยใหญ่ สลักและฉลุด้วยไม้โมกทั้งตัว ราวหน้าและราวหลังก็จำหลักฉลุไม้ปิดทองคำเปลว พื้นสานเส้นเงินแล่งลายดอกสี่กลีบ คานหามเป็นไม้สลักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง โดยสอดไว้ในห่วงขาสลักทองลงยา

วาระจัดทำ
เนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 และในโอกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พุทธศักราช 2550

ขนาด : กว้าง 1.05 ม. ยาว 1.87 ม. สูง 2.33 ม.
จำนวนช่างฝีมือ : 160 คน
ระยะเวลาจัดทำ : 1 ปี 6 เดือน