ตรีพิธพรรณบุษบก

บุษบก คือ มณฑปขนาดเล็ก ด้านข้างโปร่ง เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ใช้ในพระราชพิธีหรือประดิษฐานปูชนียวัตถุ เช่น พระพุทธรูปหรือพระไตรปิฎก

ตรีพิธพรรณบุษบก ได้รับแรงบันดาลใจจากความงดงามของพรหมวิมานที่หน้าบันของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ นำมาสร้างสรรค์ขึ้นเป็นบุษบกทองคำ เป็นผลงานที่รวบรวมงานช่างศิลป์ไทย โดยมีองค์ประกอบหลักจะมาจากงาน 3 ประเภท ตามชื่อ “ตรีพิธพรรณ” คือ งานเครื่องทองลงยาสี งานคร่ำ และงานแกะสลักไม้

ช่างสถาบันสิริกิติ์จำหลักทองคำผูกแบบ มีรูปเป็นบุษบก 3 ยอด เรียงกันดุจพิมานองค์ใหญ่ เคียงด้วยบุษบกองค์น้อยซ้ายขวาข้างละองค์ ผังบุษบกย่อเหลี่ยมมุมไม้สิบสอง ยอดทั้งสามปลายปักพุ่มข้าวบิณฑ์ทองคำลงยา ฐานบุษบกเป็นงานแกะสลักไม้ เสาบุษบกด้านนอกเป็นงานทองคำลงยา เสาบุษบกด้านในเป็นงานคร่ำทอง ภายในประดิษฐานตราสัญลักษณ์ในโอกาส มหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร) ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ

วาระจัดทำ
ในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555 (เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร)

ขนาด : กว้าง 79 ซม. ยาว 1.43 ม. สูง 2.91 ม.
จำนวนช่างฝีมือ : 197 คน
ระยะเวลาจัดทำ : 1 ปี 7 เดือน